ประติมากรรมขอม



ประติมากรรมขอม
            ภาพสลับนูนต่ำของขอมในชั้นต้นสลับคล้ายของจริงตามธรรมชาติเหมือนกับภาพสลักในประเทศอินเดีย  เช่น  บรรดาทับหลังของปราสาทหลังกลางในศาสนสถานหมู่ใต้ที่สมโบร์  แต่ต่อมาก็มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป  ดังเห็นได้จากปราสาทบากองในสมัยพระโค  และที่ปราสาทกระวันในบริเวณเมืองพระนคร  ภาพสลักแห่งนี้สลักเป็นรูปพระนารายณ์ และพระลักษณ์  มียืนอยู่เหนือผนังภายใน
ศาสนสถาน  แสดงความแข็งกระด้างเช่นเดียวกับประติมากรรมลอยตัวในขณะนั้น  นอกจากนี้ยังพบภาพสลักบนหน้าบันของปราสาททายสรี  ซึ่งเป็นภาพที่น่าประทับใจ  เพราะสลักอย่างได้ระเบียบและเต็มไปด้วยความงดงามอ่อนช้อย  เช่น  ภาพสลักนางอัปสรติโลตตมาที่อยู่ท่ามกลางอสูรสองตน  ปัจจุบันภาพนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์  กรุงปารีส  ประเทศฝรั่งเศส  และประมาณ  พ.ศ.๑๖๕๐-๑๗๐๐  ได้มีภาพสลักขนาดใหญ่ซึ่งแปลกประหลาดอย่างยิ่งที่ระเบียงปราสาทนครวัด  เป็นสภาพสลักนูนต่ำขนาดใหญ่  ๘  ภาพสลักอยู่บนระเบียงชั้นที่  ๑  ภาพเหล่านี้แสดงบุคคลจำนวนมาก  ไม่ปล่อยพื้นที่ให้ว่างเปล่าและชอบแสดงจิตใจอย่างรุนแรง  เช่น  ภาพการสู้รบ  ภาพนรก  ภาพสวรรค์  ภาพเหล่านี้แม้ว่าจะแสดงจังหวะที่ค่อนข้างกะด้างแต่ก็ต่อเนื่องกันไป  และแสดงให้เห็นถึงความนิยมในเส้นขนานขนาดใหญ่ตลอดจนการประกอบภาพอย่างมโหฬารด้วย   ต่อมาก็มีลักษณะใหม่เกิดขึ้นในภาพสลักนูนต่ำของขอม  คือ  การนิยมแสดงภาพตามความจริง  ภาพชีวิตประจำวันตลอดจนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น  ภายหลังต้นพุทธศตวรรษที่  ๑๒  คือ  ตั้งแต่สมัยพนมดา   ก็เริ่มประติมากรรมลอยตัวขนาดใหญ่  ซึ่งมีลำตัวตรง  ขาแยกจากกัน  และล้อมรอบด้วยวงโค้งสำหรับยึด  ประติมากรรมเหล่านี้โดยมากสลักเป็นรูปพระหริหระคือ พระนารายณ์และพระอิศวรผสมกันเป็นองค์เดียว  มีสัญลักษณ์ของเทพเจ้าทั้งสอง  แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาเอกภาพไว้ได้อย่างน่าสนใจ  รูปพระหริหระที่งดงามมากองค์หนึ่งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์  กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส  คือ รูปพระหริหระแห่งมหาฤาษี  (Maha  Rosei)   นอกจากนี้  ลวดลายเครื่องประดับในองค์ประกอบของ ทับหลัง”  (ศิลาสลักแผ่นสี่เหลี่ยมอยู่เหนือกรอบประตู)  ก็ยังมีลักษณะพิเศษโดยเฉพาะ  รวมทั้งเสาประดับกรอบประตู  และเครื่องประดับรูปสัตว์  คือ  นาค  ซึ่งเป็นการคิดค้นของขอมที่น่าชมมาก  ส่วนทับหลังที่มีรูปร่างสูงก็จะมีลวดลายเครื่องประดับมากขึ้น  ทับหลังแบบนี้อาจตัดได้ว่าเป็นทับหลังที่มีความงดงามที่สุดในศิลปะขอแม้ว่าจะมีลวดลายเครื่องประดับอย่างมากมายและไม่นิยมพื้นที่ว่างเปล่า  แต่ก็ยังคงรักษาความได้สัดส่วนไว้อย่างเคร่งครัด  อาทิ ทับหลังที่เมืองหริหารลัยสมัยพระโค  เป็นต้น