สถาปัตยกรรมขอม
ลักษณะสำคัญของศิลปะขอม คือ ความมีระเบียบและการแสดงอำนาจอย่างแข็งกระด้าง ลักษณะเช่นนี้เห็นได้ชัดจากการวางผังเมืองอย่างได้สัดส่วน อาทิ เมืองพระนครหรือราชธานีก่อนเมืองพระนคร คือเมืองหริหราลัย (Hariharalaya) สถาปัตยกรรมขอมในชั้นต้น คือ ศาสนสถานที่เรียกว่า “ปราสาทขอม” ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับศาสนสถานทางภาคเหนือของประเทศอินเดียมาก โดยทั่วไปจะสร้างด้วยอิฐตั้งอยู่โดด ๆ แยกออกจากกัน แต่ต่อมาไม่นานการสร้างปราสาทเหล่านี้ก็ได้รวมกันเข้าเป็นหมู่และตั้งอยู่บนฐานอันเดียวกัน เช่น ปราสาทพระโค ปราสาทบันทายสรี เป็นต้น ต่อมาตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เป็นต้นมา คือตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ก็เกิดมีการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาขึ้นในกัมพูชาและทำให้เกิดสถาปัตยกรรมแบบใหม่ขึ้นในศาสนสถานขอมขึ้นคือ ฐานทำเป็นชั้นแล้วสร้างปราสาทไว้ข้างบนนั้น ฐานแต่ละชั้นก็คือการจำลองเขาพระสุเมรุ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นศูนย์กลางของมนุษย์โลก ดังตัวอย่างปราสาทบากอง (Bakong) ปราสาทพนมบาแค็ง (Phnom Bakheng) เป็นต้น ระยะต่อมาโครงสร้างสถาปัตยกรรมของขอมได้มีการพัฒนาส่วนประกอบของปราสาทเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มระเบียงเข้ามาประกอบกับสองส่วนแรกที่เป็นปราสาทและฐานเป็นชั้น เช่น ปราสาทตาแก้ว (Takeo) ในสมัยคลังและปราสาทนครวัด ซึ่งปราสาทนครวัดนับเป็นศาสนสถานกลุ่มที่สมบูรณ์และงดงามที่สุดในศิลปะขอม สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ระหว่าง พ. ศ. ๑๖๕๐ - พ. ศ. ๑๗๐๐ เป็นการพัฒนามาจากปราสาทตาแก้ว
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)