ศิลปะตะวันออกเป็นศิลปะอุดมคติ อันเป็นศิลปะที่มิได้ยึดถือเอาความจริงตามธรรมชาติเป็นหลักจนเกินไป หรือทำเหมือนธรรมชาติทุกกระเบียดนิ้ว และแม้ว่าจะใช้ลักษณะรูปแบบของธรรมชาติเป็นพื้นฐาน แต่ก็มิได้เน้นจนเกิดความสำคัญเท่ากับลักษณะรูปแบบที่สร้างสรรค์โดยจินตนาการ
ศิลปะตะวันออก เป็นศิลปะที่มีลักษณะเด่นชัดในเรื่องของเอกลักษณ์
อันเนื่องมาจากความคิดที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างวิจิตรบรรจงของคนในชาติ นอกจากนั้นศิลปะยังแบ่งออกตามฐานะของบุคคล
เช่น ในราชสำนักก็ย่อมจะต้องประณีตวิจิตรตระการตา
เพราะเป็นสิ่งของใกล้ชิดกับกษัตริย์
ส่วนศิลปะของบุคคลทั่วไปก็แสดงฐานะที่แตกต่างกันอีกด้วย เช่น
สิ่งของเครื่องใช้ของเศรษฐีกับสามัญชนทั่วไป เป็นต้น ที่เป็นไปตามฐานะของบุคคลเช่นนี้
ก็เพื่อความเหมาะสมกับโอกาสที่จะใช้ด้วย เช่น เครื่องราชูปโภคของกษัตริย์
ก็เพื่อแสดงความสง่างามสมศักดิ์ศรีของการเป็นกษัตริย์ อันเป็นประมุขของประเทศ
เพราะกษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นเอกราชของชาติอีกด้วย
ศิลปะตะวันออกได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นอย่างฉลาดและแฝงไว้ด้วยแนวคิดและรูปแบบอันสร้างสรรค์ขึ้นเฉพาะเป็นเรื่อง
ๆ ไป เช่น การสร้างสถูปเจดีย์ในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
พ.ศ. 300 ก็มีสิ่งสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ องค์สถูป บัลลังก์ ฉัตร ดังนั้น
แม้ว่ามีการสร้างสรรค์ขึ้นในสมัยต่อมา ก็ยังรักษาแนวคิดเดิมไว้
แต่รูปแบบอาจแปรเปลี่ยนไปบ้างตามแนวความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละยุคสมัยของแต่ละชาติ
เพราะความคิดของคนแต่ละยุคแต่ละสมัยไม่เหมือนกัน ความเปลี่ยนแปลงนี้เองเรียกว่า “ วิวัฒนาการ ” ซึ่งเป็นไปอย่างช้า ๆ แต่มั่นคงอยู่ในรากฐานดั้งเดิม